ทัศนะประวัติศาสตร์ด้านตำแหน่งปกครอง ของ เจ้าพระรามราชรามางกูรขุนโอกาส (ราม รามางกูร)

พระมหาดวง รามางกูร (ป.ธ.3, พระราชทานเพลิง) วัดบวรนิเวศวิหาร คณะแดงรังษี พร้อมทายาทส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นเจ้าเมืองธาตุพนม พื้นเมืองพระนมชี้ว่าเป็นเจ้าเมืองกัลปนาเรียกว่าเจ้าโอกาสศาสนานคร (เจ้าโอกาดสาสสนานคอร) ตำแหน่งดังกล่าวพบในอุรังคธาตุผูกเดียวหรือพื้นธาตุหัวอกมากกว่า 10 ฉบับโดยเรียกว่าเจ้าโอกาส คำเรียกตำแหน่งดังกล่าวสอดคล้องกับสร้อยนามบุตรพระองค์ว่าอุกาสะราชาซึ่งพบในพื้นเมืองพระนม หมายถึงราชาหรือเจ้าผู้ปกครองข้าโอกาส ดร.วีรพงษ์ รามางกูร (ม.ป.ช, ม.ว.ม., ป.ภ.) อดีตรองนายกรัฐมนตรี ระบุประวัติตระกูลของตนสอดคล้องกับความเห็นพระมหาดวง รามางกูร ผู้เป็นลุง ในนิตยสารไฮคลาสว่า ...ตระกูลผมเป็นเจ้ามืองธาตุพนมมาโดยตลอด นามสกุลนี่มาจากปู่ทวดมีบรรดาศักดิ์เป็นขุนคงจะเป็นหัวเมืองชั้นจัตวาเพราะว่าเจ้าเมืองแค่ขุนเท่านั้นเองชื่อว่าขุนราม ก็เลยเอามาเป็นนามสกุลของตระกูล รามางกูรก็เลือดเนื้อเชื้อไขของรามคือขุนราม ลูกของขุนรามก็เป็นเจ้าเมืองต่อมา

แต่ว่าเมืองคงจะใหญ่ขึ้นคิดว่าคงปลายกรุงศรีอยุธยาสืบทอดกันมาหลายชั่วคน ลูกของขุนรามก็เป็นเจ้าเมือง ต่อมามีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงแล้วแสดงว่าเมืองใหญ่ขึ้นชื่อว่าหลวงปราณีพุทธบริษัท ลูกของหลวงปราณีฯ ก็เป็นเจ้าเมืองต่อมาชื่อว่าหลวงกลางน้อยศรีมงคล หลวงกลางน้อยฯ เป็นปู่ทวดของผม เป็นพ่อของปู่ของผมชื่อว่าเรือง ภาษาอีสานคือเฮือง...ทีนี้หลวงกลางน้อยศรีมงคลเป็นเจ้าเมืองที่เป็นคนท้องถิ่นคนสุดท้ายของเมืองธาตุพนม หลังจากนั้นก็มีการปฏิรูปการปกครองสมัยรัชกาลที่ 5 สมัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ พระองค์เจ้าชายดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็เลิกเอาคนท้องถิ่นเป็นเจ้าเมือง ส่งข้าราชการจากกรุงเทพมหานครไป ก็เลยหมด ปู่ผมก็ไม่ได้เป็นเจ้าเมือง...ความที่ปู่มีความฝังใจอยากให้ลูกหลานเป็นเจ้าเมืองก็บอกว่าให้ผมเรียนรัฐศาสตร์ให้เรียนปกครองและให้เข้ากระทรวงมหาดไทย...[28]

พระครูสิริเจติยานุรักษ์ (สมลักษณ์ สีหเตโช) มหาเถระอดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหารซึ่งคุ้นเคยกับบุตรหลานตระกูลขุนโอกาส ระบุว่าตำแหน่งปกครองเจ้ารามราชเป็นขุนโอกาสปกครองกองข้าโอกาสพระธาตุพนม ตระกูลของพระองค์สืบทอดตำแหน่งนี้หลายชั่วคน ทายาทมีบทบาททำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในวัดพระธาตุพนมมาถึงปัจจุบันโดยระบุว่า ...ตระกูลรามางกูรเป็นตระกูลเก่าแก่ของอำเภอธาตุพนม เป็นตระกูลขุนโอกาสที่มีความสำคัญกับวัดพระธาตุพนมมาช้านาน และได้มีการใช้ชื่อขุนรามรามางกูรเป็นชื่อเรือยาวด้วยว่าเรือเจ้าพ่อขุนรามฯ แห่งวัดมรุกขาราม...บุตรหลานของตระกูลรามางกูรจะเกี่ยวข้องกับวัดพระธาตุพนมมาโดยตลอด เป็นไวยาวัจกรบ้าง เป็นมัคคทายกบ้าง ทั้งมหาดวง รามางกูร พ่อใหญ่บุญ รามางกูร ก็เป็นไวยาวัจกร พ่อใหญ่เศียร รามางกูร ก็เป็นมัคคทายก...[29][30]

พระธรรมราชานุวัตร (แก้ว กนฺโตภาโส, อุทุมมาลา, ป.ธ.6, นธ.เอก) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหารและเจ้าคณะจังหวัดนครพนม เห็นว่าเป็นหัวหน้ากองข้าโอกาสพระธาตุพนมซึ่งมีหลายหมู่บ้านในสองฝั่งโขง ทรงมีพระชนม์และปกครองช่วงรัชสมัยพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช (ครองราชย์ราว พ.ศ. 2182-2238) ก่อนรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าสิริบุนสานหลายสิบปี เนื่องจากตำนานบ้านดงนาคำระบุว่าบุตรของพระองค์นามว่าแสนกางน้อยศรีมุงคุนปกครองกองข้าโอกาส และรักษาคัมภีร์อุรังคธาตุฉบับเดิมซึ่งจารึกบนลานคำสมัยเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช

อย่างไรก็ตามช่วงเวลาปกครองและช่วงชีวิตของพระองค์ที่เก่าเกินไปตามทัศนะนี้แย้งกับเอกสารตระกูล หลักฐานประวัติศาสตร์ทั้งใบลานและจารึก[31] ส่วน ดร.สุรชัย ชินบุตร[32] และประวิทย์ คำพรหม กลับเห็นต่างจากหลายทัศนะว่าทรงเป็นขุนนางชั้นขุนตำแหน่งกำนันตำบลหรือตาแสงศักดินา 400 ไร่ อาจสืบเชื้อสายจากขุนโอกาสหรือหัวหน้าผู้ควบคุมกองข้าโอกาสพระธาตุพนมในอดีต และอาจมีช่วงชีวิตราวสมัย ร. 5 ของสยาม (ครองราชย์ พ.ศ. 2396-2453) ทัศนะนี้ไม่ตรงกับหลักฐานประวัติศาสตร์ทั้งใบจุ้มที่จารคัดลอกในอุรังคธาตุ พื้นเมืองพระนม พื้นเมืองจันทะบูลี จารึกวัดพระธาตุพนม และเอกสารราชการตั้งสกุลของทายาท เนื่องจากเป็นสมมติฐานที่ใม่ใช้หลักฐานประวัติศาสตร์มาอ้างอิง[33]

แหล่งที่มา

WikiPedia: เจ้าพระรามราชรามางกูรขุนโอกาส (ราม รามางกูร) http://webcache.googleusercontent.com/ http://www.thailongboat.com/forum.php?mod=viewthre... http://www.thatphanom.com/2297.html http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscri... http://news.bugaboo.tv/watch/28468/ https://www.facebook.com/152121608307865/photos/a.... https://www.facebook.com/SilpaWattanatum/posts/350... https://web.archive.org/web/20100414031709/http://...